มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์

AGROECOLOGY

ตำบลหนองบัว ชุมชนเกษตรกรรมสร้างสุขภาวะลดเหล้าสร้างสุขสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

ตำบลหนองบัว อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ หากย้อนหลังไปราวสิบปีที่ผ่านมาที่นี่เป็นชุมชนชาวนาที่มีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กันมากเรียกได้ว่าไม่เป็นสองรองใคร โดยเฉพาะในงานบุญงานประเพณี งานศพและช่วงเทศกาลต่างๆ มีการดื่มเป็นจำนวนมากในทุกหมู่บ้านส่งผลให้เกิดให้ปัญหาจากการดื่มสุราของคนในตำบลคือกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน กลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นวงกว้าง ในอดีตประชาชนในพื้นที่ที่มีความเชื่อที่ว่าการดื่มสุราสามารถแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและทำให้สามารถทานอาหารได้มากขึ้น (ภาษาอีสานว่า : ลองคอ) และอีกหนึ่งความเชื่อคือเหล้าสามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ในร่างกายได้ การดื่มดื่มแอลกอฮอล์ได้นำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุและความสูญเสียซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนในพื้นที่ และได้ก่อปัญหาภาระค่าใช้จ่ายในการจัดงานต่างๆ ค่าใช้จ่ายจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาภาระค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดเป็นปัญหาภาระหนี้สินตามมาหลังเสร็จสิ้นงาน ผู้นำชุมชนได้เล็งเห็นว่าปัญหาจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ชุมชนจะต้องลดปัญหาและผลกระทบต่อคนในครอบครัวจึงได้ประชุมคณะกรรมการระดับตำบลเพื่อเสนอการแก้ไขปัญหาระยะยาวจึงนำมาซึ่งการจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องและค่อยเป็นค่อยไปโดยพยายามสอดแทรกการแก้ปัญหาในกิจกรรมต่างๆ เพื่อสร้างทัศนคติให้คนในชุมชนเห็นโทษของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

(เสื้อคลุมขาว) นายเยื้อน เขจรศาสตร์ นายก อบต. (เสื้อคลุมครีม) นางนิ้มนวล อำภวา ปลัด อบต.

ความมุ่งมั่นที่อยากจะแก้ไขปัญหาเรื่องผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนตำบลหนองบัว ถูกเริ่มต้นมาจากผู้นำท้องถิ่นคือนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและขยายผลแสวงหาความร่วมมือไปสู่ผู้นำชุมชนกำนันผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนสถานศึกษาและวัด เพราะทุกคนมองเห็นว่าเหล้าเป็นสาเหตุปัจจัยเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ที่กำลังเป็นปัญหาขยายตัวมากขึ้นในชุมชน เช่น อุบัติเหตุ, ปัญหาสุขภาพ, ปัญหาทะเลาะวิวาท, ปัญหาเศรษฐกิจ, ปัญหาครอบครัวแตกแยก เป็นต้น จึงได้เริ่มทำงานรณรงค์เรื่องการปลอดเหล้าในชุมชนเมื่อปี๒๕๕๗ โดยเข้าร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก๓) และพัฒนาความร่วมมือกับภาคีหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ในชุมชน เช่น การทำข้อตกลงกับวัดในชุมชนเพื่อทำกิจกรรมงานศพปลอดเหล้าเป็นการสกัดกั้นนักดื่มจากงานศพก่อน และขยายมาสู่การสร้างระเบียบข้อตกลงร่วมกันในการลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในช่วงเริ่มต้นโครงการยังไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติของสถานการณ์ปัญหาเรื่องเหล้าในพื้นที่แต่เลือกใช้วิธีอธิบายเส้นทางหรือวงจรที่ทำให้เกิดการดื่มเหล้าในชุมชน และได้ขยายผลไปสู่งานศพปลอดเหล้าทุกหมู่บ้าน ๑๐๐% งานบุญประเพณีปลอดเหล้า ๑๐๐% ทุกหมู่บ้าน มีการประสานให้โรงเรียนในเขตตำบลหนองบัวเข้าร่วมจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับกฎจราจรและการเมาแล้วขับ มีการตั้งกติการ่วมกันระหว่างชุมชนโดยร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กำนันผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้จัดทำโครงการกาฬสินธุ์ ๓ ดี “คนดี สุขภาพดี รายได้ดี” จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนการลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในตำบลมาอย่างต่อเนื่อง คณะทำงานงดเหล้าสร้างสุขตำบลหนองบัวเกิดจากการรวมตัวของผู้นำชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ โดยมีสถานการณ์ปัญหาเป็นตัวผลักดันให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันเพื่อแก่ปัญหา มีการคิดค้นกิจกรรมและมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุโดย (๑)มีการพัฒนาบุคคลและหน่วยงานต้นแบบเพื่อเป็นตัวอย่างการลดละเลิกแอลกอฮอล์ (๒)มีการสร้างเส้นทางปลอดภัยเพื่อลดการดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุจากการจราจร (๓)มีการกำหนดมาตรการทางสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อการควบคุมและลดการดื่มแอลกอฮอล์ และ (๔)มีการสร้างนวัตกรรมช่วยเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุในชุมชน  

 

ทีมงานขับเคลื่อนงานลดเหล้าสร้างสุขตำบลหนองบัว

ความโดดเด่นในการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมช่วยเลิกดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติเหตุในชุมชนตำบลหนองบัวมีให้เห็นในหลายด้านหลายมิติ โดยเฉพาะ “โครงการรักหนูเลิกดื่มเหล้า” ซึ่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็กตำบลหนองบัวได้ผสมผสานงานการศึกษาของเด็กเป็นสื่อกลางในการชักชวนให้ผู้ปกครองเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากครอบครัวไหนสามารถพัฒนาเป็นแบบอย่างได้ก็จะมีการมอบใบประกาศเกียรติคุณ นับเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องเหล้าให้กับเด็กๆ และผู้ปกครองไปพร้อมๆกัน กิจกรรมจะมีเสื้อให้เด็กใส่สกรีนข้อความว่า “รักหนูเลิกดื่ม” ในรถรับส่งเด็กจะมี ป้ายติดข้อความ “ขอเงินซื้อเหล้า เข้ากระปุกหนู” เพื่อเป็นการรณรงค์ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพบว่า รพ.สต.หนองบัว ได้พัฒนานวัตกรรมชาลดเมาโดยศึกษาค้นคว้าสมุนไพรในท้องถิ่นเพื่อล้างพิษในร่างกายเพื่อช่วยลดสารพิษจากการเกษตรในร่างกายและพัฒนาต่อยอดผสมผสานสมุนไพรต่างๆ เพื่อช่วยให้คนได้ลดละเลิกเหล้าบุหรี่ ซึ่งมีตัวยาสำคัญคือหญ้าดอกขาวและรางจืดที่หาได้จากชุมชน ควบคู่ไปกับการจัดระบบดูแลสุขภาพคนเลิกเหล้าโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองบัวร่วมกับภาคีท้องถิ่น เป็นต้น        

 

ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและพัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายที่ตำบลหนองบัว
กิจกรรมการเรียนรู้ของเด็กและงานรณรงค์ลดเหล้าสร้างสุข

ชุมชนตำบลหนองบัว เป็นชุมชนเก่าแก่เกิดจากการอพยพย้ายถิ่นของประชากรจากบ้านบอนเขียว อำเภอบัวขาว เพื่อมาตั้งถิ่นฐาน ในอดีตเคยเกิดโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงอพยพหนีออกไปจากพื้นที่นี้และต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๑ จึงได้มีการอพยพกลับมาสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่อีกครั้ง ชุมชนได้ยกฐานะเป็นตำบลหนองบัว อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปีพ.ศ.๒๕๓๙ และได้รับการยกฐานะอีกครั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว เมื่อว ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๙ ใช้ตราสัญลักษณ์เป็นรูป “กลีบดอกบัว” หมายถึงคุณงามความดีของคนหนองบัวการปฏิบัติตนเป็นคนดีการเป็นแบบอย่างของคนรุ่นหลัง และการมีจิตใจงดงาม “น้ำ” หมายถึงหนองน้ำที่เลี้ยงชีพคนตำบลหนองบัวและความอุดมสมบูรณ์เพียบพร้อมทุกอย่างดังคำขวัญที่ว่า “หนองบัวแดนคนดี สามัคคีวัฒนธรรม งามล้ำดงแม่เผด แหล่งเกษตรอันมั่นคง ลอยกระทงรวมน้ำใจ น้ำหนองใหญ่สายสัมพันธ์” ปัจจุบันชุมชนตำบลหนองบัวคืออีกหนึ่งต้นแบบของของการพัฒนาในชนบท การทำงานอย่างจริงจังต่อเนื่องทำให้ประชากรในตำบลลดละเลิกการดื่มแอลกอฮอล์ลงได้จริง การเกิดอุบัติเหตุก็ลดลงอย่างชัดเจนและสามารถขยายผลเชื่องโยงไปสู่การทำงานพัฒนาในมิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจมีการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงใหมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการรวมกลุ่มอาชีมมากมายและสามารถขยายผลสร้างการเรียนรู้ให้กับตำบลอื่นๆ ได้อย่างต่อเนื่อง  “ตำบลหนองบัว ชุมชนเกษตรกรรมสร้างสุขภาวะลดเหล้าสร้างสุขสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ชุมชนแห่งนี้ได้ยืนอยู่บนความท้าทายสำคัญคือการส่งต่อแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนไปสู่คนรุ่นต่อไป บนต้นทุนทางสังคมที่ยังเข้มแข็งคือฐานทรัพยากรธรรมชาติและฐานวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ท่ามกลางกระแสการพัฒนาอันเชี่ยวกรากและการเปลี่ยนแปลงยุคใหม่ในชนบทอีสาน…ที่ยากจะควบคุมและคาดเดา  

    

แนวคิดการพัฒนาตำบลหนองบัว

Leave your comment here