มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์

AGROECOLOGY

INAC สถาบันชุมชน



DSC01066a

สถาบันชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติ
(Institute of Natural agricultural community : INAC)  

inac 01ข

จากสภาพปัญหาหนี้สินและความยากจนของเกษตรกรรายย่อย การเพาะปลูกในระบบเกษตรเคมีและเกษตรเชิงเดี่ยวตามกระแสของการเกษตรกรรมแผนใหม่ เปลี่ยนแปลงมาจากระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านแบบดั้งเดิม (Traditional Agriculture) ซึ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง มาสู่การพึ่งพาปัจจัยการผลิตจากภายนอกเป็นหลัก และปัจจัยการผลิตเหล่านี้ล้วนต้องซื้อหรือจ้างมาทั้งสิ้น รวมทั้งสภาพดินที่เสื่อมโทรมลง การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงต้องเพิ่มขึ้น หมายถึงต้นทุนการผลิตต่อไร่ของชาวนาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาผลผลิตตกต่ำและขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดที่เกษตรกรไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม การทำนาจึงอยู่ในภาวะขาดทุนตลอดเวลา ในขณะเดียวกันเกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันสูงโดยเฉพาะด้านการศึกษาของลูกหลาน และด้านการอุปโภคบริโภค ดังนั้นเกษตรกรจึงมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว    

ปัญหาหนี้สินเกษตรกรซึ่งมีพื้นฐานมาจากความล้มเหลวของระบบการเกษตร คือสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาสูญเสียที่ดินทำกิน สำหรับเกษตรกรในจังหวัดสุรินทร์นับว่าเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงพอสมควร โดยเห็นได้จากปรากฏการณ์หลายชุมชนพบว่าชาวนาส่วนใหญ่ถือครองที่ดินเฉลี่ยเพียงเล็กน้อย หลายครอบครัวมีที่ดินทำกินลดน้อยลงมาก และอีกหลายครอบครัวตกอยู่ในภาวะต้องเช่าที่ดินเดิมที่เคยเป็นของตนเองทำนา ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ต้องสูญเสียที่ดินทำกินก็คือปัญหาหนี้สินครัวเรือนซึ่งทำให้ชาวนาจำเป็นต้องขายที่ดินที่ตนเองมีในครอบครอง หรือเปลี่ยนมือไปเนื่องจากการนำที่ดินไปค้ำประกันการกู้ยืม ส่วนสาเหตุสำคัญของหนี้สินเกิดจากความล้มเหลวจากการผลิตในระบบเกษตรเคมี-เชิงเดี่ยว ที่มีต้นทุนการผลิตสูงแต่ราคาผลผลิตไม่แน่นอน ความสามารถในการพึ่งตนเองทางด้านอาหารมีน้อยลง เพราะเน้นการปลูกข้าวหรือพืชเชิงเดี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตในปริมาณมาก ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องซื้อทั้งอาหารและปัจจัยการผลิตจากภายนอกชุมชน ในขณะที่มีรายรับจากการขายข้าวและผลผลิตอื่นมีน้อยไม่เพียงพอที่จะใช้ตลอดทั้งปี จึงต้องกู้ยืมและนำมาซึ่งการพอกพูนหนี้สิน ในบางรายพบว่าต้องใช้หนี้แบบส่งต่อจากรุ่นพ่อแม่มาถึงรุ่นลูกหลาน (หนี้มรดก) และหลายครอบครัวอาจประสบปัญหาแบบปัจจุบันทันด่วน เช่น เจ็บป่วยอาการหนัก หรือต้องดิ้นรนไปทำงานในต่างประเทศ จึงขายที่ดินของตนเพื่อนำเงินไปจัดการภาระความจำเป็นต่างๆ นั้นคือวงจรปัญหาเศรษฐกิจครอบครัวชาวนาสุรินทร์ ความจำเป็นดังกล่าวจึงเป็นแรงผลักดันสู่การริเริ่มกิจกรรม “การจัดการการเรียนรู้” เพื่อพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์/เกษตรกรรมยั่งยืน

มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์ (เดิมคือโครงการเสริมประสิทธิภาพเกษตรกรสุรินทร์) ร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกสุรินทร์ จึงขยายงานด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (โครงการส่งเสริมการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์) ไปสู่พื้นที่ชุมชนเกษตรกรรมทั้งนี้เพื่อขยายผลรูปธรรมการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ ให้กว้างขวางออกไปและให้เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาเกษตรกรรายย่อยอย่าจริงจัง และได้ร่วมกันก่อตั้ง “สถาบันชุมชนเกษตรกรรมธรรมชาติ” ขึ้น พร้อมทั้งขยายไปสู่งานบริการและการเรียนรู้เพื่อสังคมมากขึ้น 

หน่วยงานและผู้ที่สนใจศึกษาเรียนรู้ สามารถติดต่อรับการฝึกอบรม และศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์/เกษตรยั่งยืนได้
 มีบริการห้องประชุม และที่พักสะดวกสบาย ใกล้ชิดธรรมชาติ บรรยากาศท้องทุ่ง
 (สายด่วน : 044-040-258 และ 081-718-0912)
ติดตามเราได้ที่ : www.facebook.com/InacHouse