มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์

AGROECOLOGY

บทเรียนความมั่นคงด้านอาหารในวันที่โลกวิกฤติ

บทเรียนความมั่นคงด้านอาหารในวันที่โลกวิกฤติ (กรณีศึกษา : Seikatsu Club สหกรณ์ผู้บริโภคญี่ปุ่น)   

บทเรียนความมั่นคงด้านอาหารในวันที่โลกวิกฤติ (กรณีศึกษา : Seikatsu Club สหกรณ์ผู้บริโภคญี่ปุ่น)   

การระบาดของโควิด19 ไม่ได้สร้างผลกระทบเฉพาะเรื่องระบบสุขภาพประชากรเพียงด้านเดียว มาตรการควบคุมโรคตาม พรก.ฉุกเฉินนำมาสู่การล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว การจัดระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้กิจการร้านค้าและหน่วยงานตกอยู่ในสภาพหยุดชะงักไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ สายพานของการผลิตการค้าขาย การกระจายผลผลิตและบริการทั้งหลายเป็นอันต้องหยุดระบบตัวเองลงอย่างสิ้นเชิง นับเป็นปรากฏการณ์ที่อยู่เหนือความคาดหมายที่ไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นให้เห็นในช่วงชีวิตเรา ไม่เว้นแม่แต่ประเทศไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำหรือในน้ำมีปลาในนามีข้าว ภาพที่เราเห็นในรอบหนึ่งเดือนที่มาคือความขาดแคนอาหาร ภาพของผู้คนยืนรอเข้าคิวยาวเบียดเสียดเพื่อขอรับการแบ่งปันอาหารและวัสดุจำเป็น ภาพของกลุ่มคนที่เสียสละทำหน้าที่แบ่งปันในยามผู้คนหิวโหยขาดแคลน และสิ่งที่เห็นควบคู่กันคือเจ้าหน้าที่รัฐไล่ตามจับยึดของจากผู้คนที่เข้ามาบริจาค มันคือภาพของสังคมไทยในแง่มุมที่ไม่เคยรับมือกับเหตุการณ์ในลักษณะนี้มาก่อนและเราอาจไม่เคยใส่ใจจริงๆ ว่ามันพร้อมจะเกิดขึ้นกับทุกประเทศไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากโรคระบาดหรือภัยพิบัติในรูปแบบอื่น      

วิกฤติโควิด19 ช่วยยืนยันให้เราเข้าใจว่าโลกนี้เปราะบางไม่แน่นอนและคาดเดาได้ยาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมตัวเตรียมการรับมือ แน่นอนที่สุดในวันที่ผู้คนไม่มีงานไม่มีรายได้อาหารได้สำแดงตัวตนให้ทุกคนเห็นว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นและมีความหมายมากเพียงใดในยามวิกฤติและขาดแคล่น ปัญหาการเข้าไม่ถึงอาหารของผู้คนจำนวนมากเกิดขึ้นและรุนแรงในเมืองใหญ่โดยเฉพาะกับกลุ่มคนจนในกรุงเทพและหัวเมือง แต่สำหรับในพื้นที่ชุมชนชนบทปัญหาการขาดแคลนอาหารพบว่ามีน้อยกว่าคนในเมืองมาก ปรากฏการณ์อาหารในวันนี้ช่วยส่งสัญญาณความจริงในหลายมิติ เช่น เรามีอาหารมากพอสำหรับทุกคนแต่ไม่มีระบบกระจายอาหารที่เป็นธรรม,  อาหารของเราอยู่ที่ซุปเปอร์มาเก็ตเราจึงต้องพึงพาอาหารจากห้างสะดวกซื้อ, ระบบธุรกิจและการกระจายอาหารอยู่ในมือบรรษัท, เรามีระบบธุรกิจอาหารในเครือข่ายประชาสังคมที่อ่อนแอเกินไป, ที่ดินของผู้ผลิตราย ย่อยและระบบเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นฐานของความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นต้น คำถามสำคัญต่อจากนี้คือ สังคมไทยจะกำหนดพื้นที่ของประเด็นความมั่นคงทางด้านอาหารอย่างไร? มีบทเรียนอะไรบ้างที่จะช่วยให้เรา ทำความเข้าใจและตื่นตัวที่จะเตรียมการรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอน           

กรณีศึกษา Seikatsu Club สหกรณ์ผู้บริโภคที่ใหญ่และเข้มแข็งในญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่อยากหยิบมาแลกเปลี่ยนสื่อสาร เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าญี่ปุ่นคือประเทศที่พัฒนาตนเองท่ามกลางสถานการณ์ภัยพิบัติและวิกฤติการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสงคราม, แผ่นดินไหว, สภาพอากาศรุนแรง, โรงไฟฟ้านิงเคลียฟุโกชิมะระเบิด ล้วนแล้วแต่เป็นสถานการณ์ที่ต้องดินรนต่อสู่ต้องปรับตัวรับมือและเอาตัวรอดให้ได้มากที่สุด กรณีกรณีของ Seikatsu Club เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ญี่ปุ่นเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี 2508 (1965) ข้าวปลาอาหารแพง​รัฐไม่สามารถช่วยเหลือได้ทั่วถึง​ มีกลุ่มแม่บ้านผู้บริโภคต้องการนมราคาไม่แพง 300​ ขวด​ จึงก่อตั้งเป็นสมาคมรับซื้อสินค้าในโตเกียวเพื่อให้ได้ราคาถูกกว่าท้องตลาดโดยซื้อผลิตภัณฑ์นมมาขายให้สมาชิก ต่อมาพบว่าสินค้าในท้องตลาดปนเปื้อนสารเคมีมากจึงหันมารับซื้อสินค้าที่ปลอดการปนเปื้อน จนกระทั่งรวมกลุ่มกันผลิตสินค้า และเริ่มการรวมกลุ่มแบบสหกรณ์คนงานในปี 2535 (1992)  นั้นคือจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสหกรณ์ผู้บริโภคแห่งนี้ วันเวลาผ่านมากว่า​ 50​ ปี​ วันนี้​ Seikatsu Club​ มีสมาชิกกว่าสามแสนสี่หมื่นคนกระจายอยู่ทั่วญี่ปุ่น เกิดการจ้างงานคนงาน 17,000 คน มีศูนย์ช่วยเหลือสมาชิก 720 แห่ง มีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติและผู้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Seikatsu Club ไม่ได้เชื่อในกลไกการแข่งขันของตลาดมากนัก แต่เชื่อมั่นในบทบาทของชุมชนท้องถิ่นและความเป็นอิสระของสาขาในระดับชุมชนให้มีอำนาจตัดสินใจของตัวเองเป็นสำคัญ       

Seikatsu Club ได้ร่วมมือกับสหกรณ์ผู้ผลิตทั่วประเทศจัดการเรื่องอาหารได้อย่างเข้มแข็ง​มีประสิทธิภาพ พึ่งเงินทุนของตัวเอง​ได้ 100% สร้างร้านค้าขายอาหาร​ชื่อ​ Depot (แปลว่าแบ่งปัน)​ เพื่อจัดการอาหารให้กับสมาชิกได้อย่างต่อเนื่องแม้ในยามประสพ​ภัยพิบัติ​รุนแรง ความคิดที่มีพลัง​ Seikatsu Club​ อยู่ที่เป้าหมายการจัดการอาหารที่มีคุณภาพให้กับสมาชิกทุกจังหวัดทั่วประเทศ​ โดยเชื่อมโยงและรักษาฐานการผลิตของชาวนารายย่อย​บนพื้นฐานแนวคิดการร่วมกันสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรมและพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด ความยิ่งใหญ่ของสหกรณ์แห่งนี้เกิดมาจากการมีส่วนร่วมจากสมาชิกและไม่หวังพึ่งพิงรัฐ​ ความคิดในการดูแลตนเองของสมาชิกลงลึก​ไปถึงการจัดตั้งกลุ่มคนวงย่อย​ 10-20​ คน​ เพื่อรับมือในยามเกิดภัยพิบัติและให้ง่ายต่อการจัดส่งอาหารและการดูแลกันเองในยามวิกฤติ มีการจัดเตรียมอาหารกระป๋องที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชเพื่อให้สมาชิกได้รับทั้งอาหารและปรับใช้อุปกรณ์กับน้ำมันเป็นทำตะเกียง​สร้างแสงสว่างในเวลาที่ขาดพลังงาน ความคิดที่ลึกซึ้ง​ละเอียดอ่อน​เช่นนี้เกิดได้ในประเทศที่ประชากรที่มีอิสระมีเสรีที่จะขบคิด​แก้ปัญหาให้กับตัวเอง​ให้ความสำคัญกับบทบาทภาคประชาสังคม ไม่ได้หวังพึ่งพารอรับการสงเคราะห์แบบไร้ทิศทางในระบบราชการอุปถัมภ์     

กลับมาที่บ้านเราอาจจะไม่สามารถลอกเลียนแบบ Seikatsu Club มาใช้ได้ แต่ยังจำเป็นที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันว่าวิกฤติครั้งนี้จะนำไปสู่การตั้งรับปรับตัวกันอย่างไร และจะเรียนรู้จากบทเรียนประสบการณ์จากผู้คนในโลกนี้กันอย่างไร วิกฤติโควิด19 ครั้งนี้อยู่กับเราเพียงสองสามเดือนยังส่งผลกระทบสร้างความเสียหายวงกว้างมากมายขนาดนี้ หากมันยังคงอยู่กับเราในเวลาที่ยาวนานขึ้นมันจะสร้างความเสียหายมากมายขนาดไหนนั้นคงเป็นคำถามของใครหลายคน และแน่นอนที่สุดไม่มีใครรับรองได้ว่าภัยพิบัติในรูปแบบอื่นจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ประเด็นสำคัญที่เรียนรู้ได้ในวันนี้คือประชาสังคมที่เข้มแข็งเป็นสิ่งสำคัญกว่าการใช้อำนาจรัฐสั่งการ การกระจายอำนาจสู่ชุมชนท้องถิ่นสำคัญกว่ารัฐรวมศูนย์ มีที่ดินทำกินของผู้ผลิตรายย่อยและชุมชนเป็นหลังพิงของประชากร ระบบเกษตรกรรมและการกระจายอาหารต้องไม่อยู่ในระบบธุรกิจผูกขาด ในวันที่ยากลำบากเงินทองคือสิ่งสำคัญเพื่อซื้อหาอาหาร แต่ในวันที่ยากลำบากมากว่าเงินทองย่อมมีค่าน้อยกว่าข้าวปลาอาหาร ได้แต่หวังว่าวิกฤติโควิด19 ที่เกิดขึ้นในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้งที่ทำให้สังคมไทยเห็นความสำคัญของพลังทางสังคมหรือพลังของภาคประชาสังคมในการจัดการอาหารที่เป็นธรรมและเข้าใจเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร

aan”surin

      


Leave your comment here