มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์

AGROECOLOGY

ปลูกพืชหลังนา ปลูกพืชใช้น้ำน้อย ปลูกโอกาสชาวนารายย่อย

DSC07043

 

 

 

 

 

 

หัวใจสำคัญของการปลูกพืชหลังนา นอกจากจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินได้เป็นอย่างดีแล้วยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกของตนเองว่ามีเพียงพอเหมาะสมกับพืชชนิดใด เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระบบการผลิตเราควรปลูกพืชอายุสั้นและพืชที่ใช้น้ำน้อย

เป็นที่ทราบกันดีว่าโลกของเรากำลังเผชิญกับภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในโลกของเราใบนี้ได้ส่งผลต่อผู้คนจำนวนมากมาย หนีไม่พ้นแม้แต่บ้านที่เราอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ทั่วประเทศไทยมีปริมาณลดน้อยลงมาก ส่งผลกระทบถึงเกษตรกรที่กำลังเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรในช่วงฤดูแล้งนี้อย่างหนักยากที่จะหลีกเลี่ยง เมื่อเกิดภาวะเช่นนี้เกษตรกรผู้ปลูกพืชชนิดต่างๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจึงมีความจำเป็นต้องหยุดการเพาะปลูกโดยเฉพาะการทำนาปีซึ่งรัฐบาลมีนโยบายห้ามในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลสำคัญเพื่อรักษาปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเอาไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในเวลานานที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อนที่จะมีฝนตกมาในฤดูกาลใหม่ แต่ผลกระทบที่ตามของวิกฤติภัยแล้งอาจมิใช่มีเพียงเรื่องของการเพาะปลูกพืชพรรณ หากแต่ยังมีปัญหาในทางสังคมอีกมิติอื่นๆตามมาอีกมากมายหากไม่มีนโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสมและเป็นธรรมต่อคนทุกภาคส่วน

ย้อนกลับมาที่ภาคเกษตรกรรมบ้านเราเป็นที่ทราบกันดีว่าการปลูกข้าวหนึ่งรอบการผลิตมีความจำเป็นต้องใช้น้ำปริมาณมากโดยเฉพาะนาปรัง ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ส่งผลโดยตรงต่อเกษตรกรรายย่อยมากขึ้นการขาดแคลนน้ำนำมาซึ่งความเสียหายของผลผลิตโดยรวม รวมทั้งปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอนั้นส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถทำนาปรังได้ รวมทั้งในหลายพื้นที่ได้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำเพื่อการเพาะปลูก ปริมาณน้ำที่ไม่พอเพียงกับความต้องการนับเป็นประเด็นร้อนที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ประกอบกับในปัจจุบันข้าวเปลือกมีราคาตกต่ำลงมากปัญหาทั้งหมดจึงส่งผลต่อรายได้ครัวเรือนเกษตรกรที่ลดลงตามมาด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศเช่นนี้ยังพบว่ามีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่พยายามค้นคว้าสร้างแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงผันผวน แนวทางหนึ่งที่กำลังเป็นที่หน้าสนใจและมีการขยายผลมากขึ้นคือ “การปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง” และ “การปลูกพืชหลังนา-พืชปรับปรุงบำรุงดิน” อย่างเช่นเกษตรกรเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกในจังหวัดสุรินทร์ที่เดินหน้าพัฒนาองค์ความรู้การปลูกพืชหลังนาในระบบเกษตรอินทรีย์มาอย่างต่อเนื่อง และสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ขยายผลต่อเกษตรกรและผู้สนใจอย่างต่อเนื่อง

DSC07142
การเรียนรู้พืชหลังนาในระบบเกษตรอินทรีย์

 

 

 

 

 

 

 

 

ลงแปลงพืชหลังนา : กระเจี๊ยบแดง
ลงแปลงพืชหลังนา : กระเจี๊ยบแดง

 

 

 

 

 

 

 

 

กล่าวได้ว่าหัวใจสำคัญของการปลูกพืชหลังนา นอกจากจะช่วยปรับปรุงบำรุงดินได้เป็นอย่างดีแล้วยังช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี เพราะเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งได้อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำที่จะหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกของตนเองว่ามีเพียงพอเหมาะสมกับพืชชนิดใด เพราะน้ำถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระบบการผลิตเราควรปลูกพืชอายุสั้นและพืชที่ใช้น้ำน้อยโดยเฉพาะเลือกปลูกพืชไร่ที่มีราคาดี เช่น ถั่วลิสง, ถั่วเหลือง ใช้น้ำประมาณ 400-600 ลบ.ม. ต่อไร่ ต่อรอบการผลิต  นอกจากนี้ยังมีพืชหลังนาใช้น้ำน้อยอีกมากมายที่น่าสนใจอย่างพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วพร้า ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วดำ รวมทั้งพืชในกลุ่มแตงอย่าง แตงโม แตงไทย หรือแม่แต่พวก งาขาว งาดำ กระเจี๊ยบแดง และพืชประเภทผักอีกมากมายหลายชนิด เป็นต้น ซึ่งเน้นไปในกลุ่มพืชที่สามารถปลูกได้ในหน้าแล้งโดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำจากแหล่งอื่นมาเพิ่มเติมอีกหรือกล่าวได้ว่าการเลือกพืชที่เหมาะสมกับสภาพดินและความชื้นที่มีอยู่ในดินก็เพียงพอสำหรับการเจริญเติมโตของพืชชนิดนั้นๆ อย่างเช่น แตงโม กระเจี๊ยบแดง ถัวเขียว เป็นต้น แต่ทั้งนี้เกษตรกรจำเป็นต้องทำการผลิตในระบบเกษตรอินทรีย์และมองถึงช่องทางตลาดร่วมไปด้วยว่าพืชแต่ละชนิดที่ตลาดมีความต้องการมีอะไรบ้างเพื่อลดความเสี่ยงในการขาดทุน นอกจากนี้เกษตรกรต้องมีวิธีการจัดการแปลงอย่างถูกต้องและเหมาะสมเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตั้งแต่การเตรียมดินต้องคำนึงถึงความชื้นที่เหมาะสมและการรักษาความชื้นในดิน การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์พืชที่ดีที่มีคุณภาพให้ผลผลิตสูงและเหมาะกับสภาพพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีพันธุ์พืชรองรับเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรมากมาย อาทิ ถั่วเขียว ถั่วพร้า ถั่วพุ่ม ถั่วเหลือง  ถั่วลิสง ซึ่งมีแนวโน้มราคาอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากเป็นพืชอายุเก็บเกี่ยวสั้นและใช้น้ำน้อยที่สามารถช่วยประหยัดน้ำแล้วพืชหลังนายังช่วยตัดวงจรปัญหาโรคและแมลงในนาข้าวได้ดีอีกด้วย

นอกจากการปลูกพืชหลังนาเพื่อสร้างรายได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีความสำคัญมากในระบบเกษตรอินทรีย์เพราะพืชหลังนาเป็นกระบวนการปรับปรุงบำรุงดินและสร้างปุ๋ยพืชสด เป็นการสร้างปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งจากลำต้น ใบและรากจากพืชตระกูลถั่ว เมื่อถึงระยะที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่คือเมื่อพืชเริ่มออกดอกจนถึงดอกบานเต็มที่จึงทำการตัดสับแล้วไถกลบ หรือไถกลบไปในดินทั้งต้นโดยตรงแล้วแต่ชนิดของพืช หลังจากทิ้งไว้จนเน่าเปื่อยผุพังไปก็จะให้ธาตุอาหารหมุนเวียนกลับสู่ดินซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับพืชที่จะปลูกต่อไป สำหรับพืชที่ใช้ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดที่ดีที่สุดนั้น คือ พืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพร้า ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพุ่มดำ ถั่วเขียว ฯลฯ เพราะพืชตระกูลถั่วมีคุณสมบัติพิเศษคือที่รากมีปมเรียกว่าปมรากถั่วซึ่งจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินโดยเฉพาะไนโตรเจน เป็นการบำรุงและซ้อมแซมดินหลังจากการใช้ดินมาในรอบเวลาการผลิตและใช้งานหน้าดินจากการผลิตข้าวนาปี การหันมาสนใจและพัฒนาองค์ความรู้การปลูกพืชหลังนาและพืชหน้าแล้งที่ใช้น้ำน้อยจึงนับว่าเป็นนวัตกรรมการผลิตในระบบเกษตรนิเวศ เกษตรอินทรีย์ที่เหมาะสม อย่างยิงกับเกษตรกรรายย่อยในช่วงเวลาวิกฤติของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นจะต้องช่วยกันพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ให้ต่อเนื่องไปในระยะยาว   

Arat Sangubon

DSC07041
ถั่วพร้า
DSC07084
แตงโม

 

 

 

 

ป้ายกำกับ:,

Leave your comment here