มูลนิธิชุมชนเกษตรนิเวศน์

AGROECOLOGY

ตำบลบ้านหวดชุมชนสร้างสุข บนฐานชาติพันธุ์และทรัพยากรธรรมชาติ

ชุมชนตำบลบ้านหวด อยู่บนพื้นที่ราบสูงเขตภูเขาในอำเภองาว จังหวัดลำปาง อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้เบญจพันพรรณและแหล่งไม้สักชั้นดี มีอาณาเขตพื้นที่ตำบลราว ๒๙๙ ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบไปด้วยพื้นเขตอุทยาน ๒ แห่ง เขตป่าอนุรักษ์ ๑๑ แห่ง และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นชุมชนที่ถนนสายเอเชียหมายเลข ๑ ตัดผ่านเป็นระยะทาง ๓๕ กิโลเมตร ประชากรร้อยละ ๗๐ ยังอยู่ในภาคการเกษตรมีรายได้หลักมาจากการทำไร่ข้าวโพด, มันฝรั่ง, ถั่วแระ และมันสำประหลัง แต่มีรายได้จากภาคเกษตรประมาณร้อยระ ๓๓ มี รายได้จากการรับจ้างร้อยละ ๓๘ จากรายได้ทั้งหมด ชุมชนแห่งนี้มีแหล่งไม่สักชั้นดีในอดีตจึงมีผู้คนจากทางเหนือและคนต่างถิ่นเข้ามาตัดไม้ทำธุรกิจไม้สักกันมากและกลายเป็นชุมชนที่มีผู้คนต่างถิ่นเข้ามาอาศัยตั้งรกรากจับจองถิ่นที่อยู่ขยายตัวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น ประชากรในชุมชนตำบลบ้านหวดประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ชาวไทยล้านนา, ชนเผ่าเมี่ยน, ชนเผ่าขมุ, ชนเผ่าอาข่า, ชนเผ่าม้ง ซึ่งต่างก็มีภาษาพูดและขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นของตนเอง ชุมชนยังมีลักษณะการอยู่ร่วมกับแบบเครือญาติยังพบเห็นการนับถือผีบรรพบุรุษ นับถือคริสต์ศาสนา และส่วนใหญ่เป็นชุมชนที่นับถือพุทธศาสนา ยังคงลักษณะชุมชนหลากหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันแบบช่วยเหลือเกื้อกูล มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างและมีกลไกแก้ไขข้อขัดแย้งในชุมชนด้วยระบบไกล่เกลี่ยแบบเครือญาติ    

ชุมชนตำบลบ้านหวด อยู่บนพื้นที่ราบสูงเขตภูเขาในอำเภองาว จังหวัดลำปาง

ชุมชนแห่งนี้มีภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็งร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาพวะชุมชนอย่างมีคุณภาพ มี อบต. บ้านหวดเป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือทังในและชุมชน เริ่มขับเคลื่อนงานตำบลสุขภาวะมาตั้งแต่ ปี๒๕๕๗ ด้วยเหตุผลว่าชุมชนมีปัญหาสุขภาพประชากรมากเนื่องจากสภาพพื้นที่และการเข้าไม่ถึงการ รักษาพยาบาลโดยเฉพาะปัญหาการเกิดอุบัติเหตุที่สร้างความสูญเสีย ประกอบกับเคยเป็นแหล่งต้มเหล้าทำให้มีปัญหาจากการดื่มดื่มแอลกอฮอล์มากพอสมควร จึงเริ่มทำงานพัฒนาระบบฐานข้อมูลชุมชนตำบลทำให้เห็นข้อมูลและเข้าใจสภาพปัญหาชุมชนชัดเจนมากขึ้น ต่อเนื่องมาถึงปี๒๕๖๐ ได้เข้าร่วม “โครงการรวมพลังชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่สู่การขยายเครือข่ายจัดการภัยจากแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุ” ร่วมเป็นเครือข่ายกับศูนย์ประสานงานการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สานัก ๓) สำนักงานกองทุนสนับสุนนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีเป้าหมายสร้างจิตสานึกให้ชุมชนเพื่อช่วยกันป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพัฒนาศักยภาพกลไกของชุมชนท้องถิ่นให้สามารถทำ หน้าที่ในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และลดอุบัติให้ได้มากที่สุด และพัฒนานโยบาย สาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการลดการเกิดอุบัติเหตุจราจรจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์   

ผลจากการทำงานหนักอย่างต่อเนื่องของภาคีความร่วมมือในตำบลส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพประชากรไปในทิศทางที่ดีขึ้น สถิติการดื่มเหล้าของประชากรในตำบลลดลงมาก ประชากรกลุ่มผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่นลดการดื่มเหล้าลงเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนกิจกรรมรณรงค์และการสร้างมาตรการทางสังคม การเปลี่ยนแปลงในภาพรวมสุขภาพของประชากรดีขึ้นโดยการยืนยันข้อมูลจาก รพ.สต.พบว่าโรคที่เกี่ยวของกับการดื่มแอลกอฮอล์มีแนวโน้มลดลงมาก เช่น โรคหลอดเลือด โรคความดันโลหิต รวมทั้งโรคพิษสุราเรื้อรังและโรคเรื้อรังอื่นๆ เป็นต้น ชุมชนได้ร่วมมือกันปรับสภาพแวดล้อมสร้างความปลอดภัยเส้นทางจุดเสี่ยงโดยเฉพาะเส้นทางรองระหว่างหมู่บ้านและเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างตำบล เช่น จุดทางแยก จุดทางโค้ง ปรับสภาพผิวถนนเป็นหลุมบ่อและมีรากไม้ บริเวณที่มีต้นไม้ปกคลุมปิดกั้นการมองเห็น เป็นต้น รวมทั้งมีการทำด่านชุมชนเพื่อสกัดนักดื่มที่ขับขี่รถยนต์มอเตอร์ไซ ส่งผลให้ปัญหาอุบัติเหตุบนถนนลดลงและเกิดผลต่อเนื่องคือความตระหนักร่วมกันของคนในชุมชน  

ภาคีความร่วมมือที่เข้มแข็งร่วมกันขับเคลื่อนงานพัฒนาสุขภาพวะชุมชน

ความน่าสนใจอีกอย่างของชุมชนตำบลบ้านหวด คือการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันจาก ๔ ภาคส่วนหลัก (ท้องถิ่น ท้องที่ หน่วยงาน กลุ่มองค์กร) ที่เข้มแข็งพอสมควรมีการทำงานที่ต่อเนื่องและมีลักษณะบูรณาการการทำงานร่วมกันเป็นทีม ถือได้ว่าเป็นต้นทุนที่สำคัญของชุมชนแห่งนี้ที่นำมาสู่การสร้างกลไกที่เรียกว่า “คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลบ้านหวด” ภายใต้การขับเคลื่อนขององค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวดซึ่งมีความมีความสามารถด้านการประสานเชื่อมโยงคนและงาน สามารถผลักดันให้มีกลไกสำคัญดังกล่าวเพื่อขับเคลื่อนงานต่างๆ ในระดับตำบลบ้านหวดได้ คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตำบลบ้านหวดเป็นการจำลองรูปแบบมาจากคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอที่ประกอบไปด้วยหน่วยงานต่างๆ และประชาชนให้เข้าร่วมเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน ตำบลบ้านหวดได้นำเอารูปแบบโครงสร้างดังกล่าวมาปรับใช้และจัดเป็นกลไกการทำงานร่วมกันในพื้นที่ตำบล มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานพัฒนาในตำบลบ้านหวดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งชัดเจนว่าการพัฒนากลไกความร่วมมือและการมีส่วนร่วมเช่นนี้มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาชุมชนในระยะยาว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญที่จะนำไปสู่ความการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาว

บทเรียนประสบการณ์และฐานการเรียนรู้ที่หลากหลาย

นี้คือเรื่องราวเพียงส่วนเล็กๆ ของชุมชนแห่งนี้ที่ทำให้เราเห็นว่าการเรียนรู้ทำความเข้าใจสภาพปัญหาในชุมชนท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นคือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา มุมมองของรัฐที่เห็นว่าชุมชนท้องถิ่นเป็นภาพเขียนที่หยุดนิ่งตายตัวหรือมีจินตภาพแบบเดียวกันทั้งหมด มันคือจุดเริ่มต้นความล้มเหลวของการพัฒนาชนบทในสังคมไทย แน่นอนที่สุด ณ ชุมชนตำบลบ้านหวดแห่งนี้ยังคงถูกท่าทายด้วยปัญหาอีกมากมาย เช่น การใช้สารเคมีในพืชไร่, การแย่งชิงฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ปัญหาความยากจนและสิทธิในที่ดินทำกิน, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ, สิทธิของคนชนเผ่าและปัญหาอื่น แต่เรื่องราวที่พบเห็นในวันนี้ได้สะท้อนพลังของการพัฒนาตนเอง เห็นถึงความพยายามที่จะจัดการตนเอง และเห็นถึงศักยภาพของกลุ่มคนต่างๆ ที่ไม่ได้หยุดนิ่งงอมืองอเท้าเฝ้ารอนโยบายส่วนกลางโดยไม่คิดจะทำอะไรด้วยตนเองเลย แต่กลับเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามคือความพยายามเดินหน้าไปสู่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง   

caef.new : รายงาน 

ป้ายกำกับ:

Leave your comment here